สำหรับใครที่มีความเสี่ยง และต้องการตรวจ HIV เดี๋ยวนี้ไม่มีความจำเป็นต้องรอนานถึง 3 เดือนแล้ว เพราะปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่รวดเร็ว และให้ความแม่นยำสูง จะต้องทนเครียดถึง 3 เดือนไปทำไม ในเมื่อตอนนี้ 7 วันคุณก็สามารถเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัส HIV ได้แล้ว
ตรวจ HIV เขาทำกันอย่างไร
การตรวจ HIV วิธีที่ให้ผลแม่นยำมากที่สุด คือ การเจาะเลือดของผู้ที่คาดว่าจะได้รับเชื้อ ไปตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีในห้องปฏิบัติการ แบ่งตามรูปแบบที่แพทย์จะเลือกใช้ตรวจวินิจฉัย ได้แก่
- การตรวจเอชไอวีด้วยวิธีหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (Nucleic Acid Amplification Testing : NAT)
- เป็นการตรวจ HIV แบบ RNA สำหรับใช้ติดตามปริมาณไวรัส (Viral Load) ก่อนและหลังการรักษา ซึ่งเป็นวิธีตรวจ HIV ที่มีความรวดเร็วมาก เพราะสามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังมีความเสี่ยง โดยไม่ต้องรอถึง 14 วัน แพทย์มักจะนิยมใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต
- การตรวจเอชไอวีด้วยวิธีหาแอนติเจนของเชื้อ (HIV p24 Antigen Testing)
- เป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อที่มีชื่อว่า p24 Antigen วิธีนี้ใช้สำหรับตรวจการติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม ซึ่งร่างกายผู้ได้รับเชื้อยังไม่ทันที่จะสร้างแอนติบอดีมาต่อสู้กับไวรัสเอชไอวี สามารถตรวจได้ภายหลังมีความเสี่ยงประมาณ 14 วันขึ้นไป
- การตรวจเอชไอวี โดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อ และตรวจแอนติเจนของเชื้อพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay)
- เรียกกันโดยทั่วไปว่า การตรวจแบบใช้น้ำยา 4th Generation ซึ่งเป็นการตรวจ Anti-HIV และ HIV p24 Antigen ในครั้งเดียวกัน โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้เร็วที่สุด 14 วันขึ้นไป
- การตรวจเอชไอวีด้วยวิธีหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ HIV (Anti-HIV Testing)
- เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีของร่างกายที่สร้างขึ้นต่อสู้กับเชื้อ HIV ที่เข้าสู่ร่างกาย และเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะสามารถทราบผลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยสามารถตรวจพบได้หลังมีความเสี่ยงประมาณ 30 วันขึ้นไป
ทำไมตรวจ HIV ถึงไม่ต้องรอนาน
ถึงแม้ว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ HIV จะยังไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัดก็ตาม แต่ด้วยวิธีการตรวจ HIV ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นทำให้เราได้รู้ผลเลือดไวขึ้นกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ หรือโรคที่อาจลุกลามรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคปอดอักเสบ วัณโรค เชื้อไวรัสขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น เพราะฉะนั้นการตรวจ HIV ให้เร็วที่สุดและไม่ต้องรอนานๆ จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งตัวผู้ตรวจเองให้ได้วางแผนการรักษา และดูแลตัวเองได้ทันทีก่อนที่อาการจะเกิด รวมไปถึง การที่จะได้ชวนคู่นอนมาทำการตรวจ HIV ด้วย เพราะหากคุณมีเชื้อ คู่นอนของคุณก็ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปด้วย
ตกลงควรตรวจ HIV หลังเสี่ยงกี่วัน
ส่วนใหญ่ในการตรวจ HIV ที่ให้ผลแม่นยำ ควรตรวจที่หลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป โดยอาจยึดตามวิธีที่แพทย์ใช้ตรวจ ได้แก่
- การตรวจเอชไอวีแบบแนท ตรวจได้หลังเสี่ยง 5-7 วันขึ้นไป
- การตรวจเอชไอวีหาแอนติบอดี ตรวจได้หลังเสี่ยง 21-30 วันขึ้นไป
- การตรวจเอชไอวีแบบใช้น้ำยา 4th Generation ตรวจได้หลังเสี่ยง 14 วันขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะตรวจเอชไอวีในรอบแรกและผลเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ แต่ก็ควรกลับไปตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 3 เดือน เพื่อยืนยันผลเลือดที่แน่นอนอีกครั้ง
ใครบ้างที่ควรตรวจ HIV
- คนที่ใช้สารเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่สวมถุงยางอนามัย
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
- คนที่ถูกข่มขืน หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- คนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
- ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี
- คนที่ป่วยเป็นวัณโรค
- คนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่หรือเคยตรวจพบว่าเป็นภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ข้อควรรู้ในการตรวจ HIV
- ทบทวนระยะเวลาความเสี่ยงว่าเสี่ยงมาแล้วกี่วันอย่างแน่นอน เพราะจะได้ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและเลือกวิธีตรวจที่เหมาะสมให้กับคุณได้
- ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ แต่ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือน้ำหวาน
- เตรียมเอกสาร เช่น บัตรประจำตัวประชาชนสำหรับให้กับเจ้าหน้าที่ลงทะเบียน
- อาจมีการเซ็นเอกสารยินยอมเข้ารับการตรวจ HIV โดยสมัครใจ
- แพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อประเมินความเสี่ยงของคุณ ควรให้ข้อมูลโดยละเอียด
- เจ้าหน้าที่จะทำการเจาะเลือด เพื่อนำส่งเข้าตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ
- ส่วนใหญ่จะมีการแจ้งผลภายในวันที่ไปตรวจเลย หรือาจมีการนัดวันมาฟังผลอีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาในการแจ้งผลขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล
ผลตรวจ HIV มีกี่แบบ?
หลักๆ แล้วผลตรวจ HIV จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ ผลบวก และผลลบ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือไม่พบปฎิกิริยาจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ตรวจใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง โดยความหมายของผลเลือด มีดังนี้
- ผลบวก (Reactive หรือ Positive) คือ พบการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
- ผลลบ (Non-reactive หรือ Negative) คือ ไม่พบการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
ซึ่งการแปลผลตรวจ จะอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควบคู่กับการวินิจฉัยความเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยงของผู้เข้ารับการตรวจจากแพทย์ หากพบว่าผู้ตรวจเองไม่มีประวัติเสี่ยง หรือมีประวัติเสี่ยงน้อย การได้ผลเลือดลบ แสดงว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่หากพบว่าผู้ตรวจมีประวัติเสี่ยงสูงการได้ผลเลือดบวก จะต้องดำเนินการตรวจซ้ำด้วยวิธีที่ต่างกับครั้งแรกอีกจำนวน 2 ครั้ง หากให้ผลบวกเหมือนกับครั้งแรกจะรายงานว่าผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดบวกหรือมีการติดเชื้อจริง
ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจพบเชื้อ HIV แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดซ้ำ เพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปริมาณไวรัสในเลือด ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อใช้ประเมิน และวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสต่อไป
กรณีที่ผลเลือดเป็นลบ คือไม่เชื้อ ผู้ตรวจควรปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำในการลดความเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวี รวมถึงการป้องกันที่ถูกวิธี ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ควรมีการตรวจเช็คทุกครั้งที่มีความเสี่ยง หรือทุกๆ 3-6 เดือน หากคุณมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง

ดังที่กล่าวมาข้างต้น คุณจะเลือกใช้วิธีการตรวจ HIV แบบใดก็ตามขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวที่สามารถตรวจพบเชื้อด้วยเป็นหลัก พึงระลึกไว้ว่า การตรวจ HIV มีประโยชน์มากมายทั้งต่อตัวคุณเองและกับคู่นอนของคุณ เพราะหากพบเชื้อ การเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีไม่เจ็บป่วย และหากไม่พบเชื้อ การได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะช่วยให้คุณป้องกันตัวเองจากโรคร้ายเหล่านี้ได้ตลอดไป