หนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางดวงตา นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อจากแม่ที่ติดเชื้อไปยังทารกแรกเกิดระหว่างการคลอดได้อีกด้วย
หนองในเทียมอาการเป็นอย่างไร ?
อาการในผู้ชาย
- มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
อาการในผู้หญิง
- มีตกขาวมากผิดปกติ
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือน
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
การวินิจฉัยหนองในเทียม

หนองในเทียมสามารถวินิจฉัยได้โดยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- การเก็บตัวอย่างไปตรวจ คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การตรวจปัสสาวะ คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
ภาวะแทรกซ้อนหนองในเทียม
ภาวะแทรกซ้อนของหนองในเทียมจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศของผู้ป่วย โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ในเพศชาย อัณฑะอักเสบหรือต่อมลูกหมากติดเชื้อ เจ็บที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ข้ออักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ถ้าปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้เป็นหมันได้
- ในเพศหญิง อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกในขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- เกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ แต่จะพบได้น้อยมาก นอกจากนี้ผู้ที่เป็นหนองในเทียมที่ไม่ได้รับการรักษา ยังอาจทำให้ติดเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นหนองในเทียม
- งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ควรพาคู่นอนไปตรวจหาเชื้อ
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ และทำให้แห้งอยู่เสมอ
- ห้ามใช้ของร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ
- เข้ารับการตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- เมื่อรักษาตามอาการจนครบแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าเชื้อหายสนิท
การรักษาหนองในเทียม
หนองในเทียม สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียม ได้แก่ กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)
หนองในเทียมป้องกันอย่างไร

การป้องกันหนองในเทียม ที่เห็นผลที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการรับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้กว่า 90% มีคู่นอนเพียงคนเดียวไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อสุขภาพทางเพศ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม
หนองในเทียม เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงสามารถรับเชื้อได้โดยง่ายแบบไม่ทันตั้งตัว อย่างไรก็ตาม หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่าน การจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย