ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาละติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ ทำด้วยวัสดุจากยางพารา หรือโพลียูรีเทน โดยฝ่ายชายเป็นฝ่ายใช้สวมครอบอวัยวะเพศของตนเอง และเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้เป็นอันดับต้นๆ สำหรับช่วยป้องกันการคุมกำเนิด และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ถุงยางแตกสาเหตุเกิดจากอะไร
ถุงยางแตก ขณะทำกิจกรรมทางเพศ เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ดังนี้
- เลือกใช้ถุงยางอนามัยผิดขนาด
- แกะบรรจุภัณฑ์ของถุงยางที่ผิดวิธี หรือใช้ของมีคมในการแกะบรรจุภัณฑ์
- การใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุแล้ว ผู้ใช้ควรดูวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ ก่อนนำมาใช้
- ไม่รู้วิธีใช้ถุงยาง หรือสวมใส่ถุงยางอย่างถูกต้อง
- เก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บในที่ที่โดนแสงแดด หรือความร้อน
- ใช้ถุงยางอนามัยแบบไม่มีสารหล่อลื่น หรือสารหล่อลื่นไม่พอ
- ใช้สารหล่อลื่นแบบน้ำมัน สารหล่อลื่นชนิดน้ำมันจะทำให้ยางของถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ จนทำให้ถุงยางแตกได้ง่าย
- สอดใส่ลำบาก หากสอดใส่ขณะร่วมเพศลำบาก ควรใช้ถุงยางอนามัยคุณภาพดีมากหรือเพิ่มสารหล่อลื่น เพื่อลดการเสียดสีจนทำให้ถุงยางแตก

ถุงยางแตกเสี่ยงต่ออะไรบ้าง
- ความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ เอชไอวี ฉะนั้น หากเกิดถุงยางแตกควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว
- ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์
ทำอย่างไรเมื่อถุงยางแตก
สำหรับการร่วมเพศทางช่องคลอด
- ฝ่ายหญิงควรรีบเข้าห้องน้ำ และปัสสาวะออกมา เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ โดยนั่งยอง ๆ และขมิบกล้ามเนื้อช่องคลอดขณะที่นั่งปัสสาวะ
- ห้ามฉีดน้ำ หรือล้างข้างในช่องคลอด เนื่องจากหากยิ่งฉีด ตัวอสุจิ หรือเชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเข้าไปในช่องคลอดมากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงตั้งครรภ์หรือได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ฝ่ายหญิงอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น โดยรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังถุงยางแตก เนื่องจากอาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สำหรับการร่วมเพศทางทวารหนัก
- ควรถ่ายหนักเพื่อกำจัดอสุจิที่อาจตกค้างออกมาให้มากที่สุด
- ไม่ควรฉีดน้ำหรือล้างข้างในช่องทวาร เนื่องจากแรงฉีดน้ำอาจทำให้เกิดน้ำในทวารหนัก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศและตรวจทวารหนักภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
- ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สำหรับการทำออรัลเซ็กส์
- ควรคายหรือกลืนอสุจิทันที ไม่อมอสุจิไว้ในปาก
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด
- ไม่ควรแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังถุงยางแตกและอสุจิเข้าปาก
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะเพศและตรวจคอภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
วิธีใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
- ฉีกซองบรรจุภัณฑ์ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรใช้ปากกัดหรือใช้เล็บจิก เพื่อป้องกันการฉีกขาดของถุงยางอนามัย
- สวมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบที่ปลายกะเปาะถุงยางเพื่อไล่อากาศด้านในออก ซึ่งจะช่วยป้องกันถุงยางอนามัยหลุดระหว่างใช้งาน
- ค่อย ๆ รูดม้วนถุงยางอนามัยลงมาจนถึงโคนอวัยวะเพศ หากไม่สามารถรูดลงมาได้แสดงว่าใส่กลับด้าน ในกรณีนี้ให้เปลี่ยนถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ เพราะอาจมีอสุจิปนออกมากับน้ำหล่อลื่นและติดอยู่ที่ถุงยางอนามัยชิ้นเดิม แม้จะยังไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ตาม
- หากเป็นถุงยางอนามัยแบบไม่มีที่สำหรับเก็บน้ำอสุจิ ควรเหลือบริเวณส่วนปลายกะเปาะของถุงยางไว้ประมาณ 0.5 นิ้ว เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยแตกระหว่างใช้งาน
- หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทางเพศ ให้รีบถอดถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศชายยังแข็งตัวอยู่ เพื่อไม่ให้ถุงยางหลุดอยู่ในช่องคลอดหรือทวารหนัก โดยจับส่วนฐานของถุงยางและค่อย ๆ นำอวัยวะเพศออกจากร่างกายของอีกฝ่ายอย่างระมัดระวัง เพราะน้ำอสุจิอาจหกหรือไหลออกมาได้
- ใช้กระดาษทิชชู่ห่อถุงยางอนามัยแล้วนำไปทิ้งลงถังขยะ

วิธีป้องกันถุงยางแตก
- เลือกถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดอวัยวะเพศของตนเอง
- ห้ามแกะถุงยางอนามัยออกมาด้วยของมีคม เช่น กรรไกร หรือกัดด้วยฟัน
- ตรวจดูสภาพถุงยางอนามัยก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง หากพบว่ามีรอยขาดหรือรอยรั่ว ไม่ควรนำมาใช้
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ โดยดูวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง
- ควรใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
- ไม่ควรสวมถุงยางอนามัยสองชั้น เพราะอาจก่อให้เกิดการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
- ควรเก็บถุงยางอนามัยให้พ้นจากที่ที่มีแสงส่องถึง หรือมีความร้อน
- ไม่ควรใช้โลชั่น น้ำมัน หรือสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่เลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำเท่านั้น
- ห้ามพกถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าเงิน เนื่องจากอาจทำให้ถุงยางพับงอจนรั่วได้
ขอบคุณข้อมูล : Pobpad, Sanook
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นวิธีการคุมกำเนิดอย่างหนึ่งสำหรับคู่รักที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร ในขณะเดียวกันหากมีการใช้ถุงยางอนามัยที่ผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด ถุงยางหลุด ขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ได้