ทำความเข้าใจก่อนใช้ PrEP และ PEP

ทำความเข้าใจก่อนใช้ PrEP และ PEP

เพร็พ (PrEP) และ เป๊ป (PEP) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี กินเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยจะแตกต่างกันที่การกินก่อน และกินหลังสัมผัสเชื้อ โดยคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้าน ว่าทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนการใช้

  • เพร็พ (PrEP) กิน “ก่อน” สัมผัสเชื้อ
  • เป๊ป (PEP) กิน “หลัง” สัมผัสเชื้อ

PrEP & PEP คืออะไร ?

เพร็พ (PrEP : Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ เหมาะสำหรับผู้ที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อสูง โดยจะต้องกิน วันละ 1 เม็ด ให้ตรงเวลาทุกวัน

เป๊ป (PEP : Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในกรณีฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบที่เพิ่งได้สัมผัสเชื้อมา โดยจะต้องรีบกิน ภายใน 72 ชั่วโมง กินต่อเนื่อง 28 วัน

PrEP & PEP มีกลไกในการทำงานอย่างไร ?

กลไกของยา PrEP จะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ เมื่อเชื้อเอชไอวี เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้

กลไกของยา PEP จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายภายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

PrEP & PEP เหมาะสำหรับใคร

PrEP & PEP เหมาะสำหรับใคร ?

PrEP เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง 

  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
  • ผู้ที่มาขอรับบริการ PEP อยู่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลเลือดโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

PEP เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่ถุงยางอนามัย ฉีกขาด หรือหลุด
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ

PrEP & PEP กินอย่างไร ?

  • PrEP กินเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
  • PEP กินทันทีเมื่อมีความเสี่ยง แต่ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง กินติดต่อกัน 28 วัน ยิ่งกินยาเร็วเท่าไร ยายิ่งมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจเอชไอวีอีกครั้งใน 1 – 3 เดือน เพื่อยืนยันผล
ขั้นตอนการรับ PrEP & PEP

ขั้นตอนการรับ PrEP & PEP

การรับ PrEP

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ PrEP
  • ผู้มารับบริการจะต้องได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต 
  • หลังจากที่ได้รับยา PrEP ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน 
  • หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

การรับ PEP

  • ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่ 
  • แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไต ก่อนรับยา PEP
  • หากติดเชื้อเอชไอวี อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้
  • หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน 
  • งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

PrEP & PEP เป็นยาที่ป้องกันได้แค่เอชไอวี ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ เริม ฯลฯ ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง