ซิฟิลิส คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum โรคนี้เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมานานหลายศตวรรษ เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกถึงอาการ วิธีการวินิจฉัย การรักษาที่มีอยู่ และมาตรการป้องกันที่สำคัญ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจกับซิฟิลิสแล้ว คุณก็สามารถป้องกันสุขภาพทางเพศของคุณ ลดความเสี่ยงของการรับเชื้อและแพร่เชื้อ
ซิฟิลิสคืออะไร?
ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร ซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum โดยเชื้อจะแทรกซึมเข้าไปในร่างกายผ่านทางแผลเปิดหรือเยื่อเมือก แต่ละระยะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
การวินิจฉัยซิฟิลิส

การวินิจฉัยซิฟิลิส ตรวจยืนยันได้จากการเจาะเลือด ในการติดเชื้อซิฟิลิสระยะต้นๆ อาจมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่นแผลริมแข็ง ไปตรวจหาเชื้อร่วมด้วย ส่วนในระยะที่ 3 แพทย์อาจเจาะน้ำจากไขสันหลังเพื่อตรวจความผิดปกติในระบบประสาทร่วมด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการติดเชื้ออื่นๆเพิ่มเติมที่อาจพบร่วมกันได้ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น หนองใน เอชพีวี เอชไอวี เป็นต้น
อาการของซิฟิลิส
อาการของซิฟิลิส อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 : อาการเริ่มต้นของซิฟิลิสมักจะแสดงอาการจากมีแผลเล็กๆเรียกว่าแผลริมแข็งโดยจะเกิดขึ้นหลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 : หลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า
- ระยะแฝง : ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา
- ระยะที่ 3 : ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
การรักษาซิฟิลิส
ซิฟิลิส สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ประเภทของยาและระยะเวลาการรักษา ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของการติดเชื้อ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในระยะต้นๆมักรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ระยะหลัง ๆ อาจต้องได้รับการรักษาที่ยาวนานขึ้น
การป้องกันซิฟิลิส

- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีรอยแผล บริเวณอวัยวะเพศ
- ตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นหากคุณมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ เพราะการตรวจพบซิฟิลิสตั้งแต่ระยะต้นๆ จะทำให้คุณได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้