ความก้าวหน้าในการรักษาและป้องกันเอชไอวี

ความก้าวหน้าในการรักษาและป้องกันเอชไอวี

เอชไอวี (HIV) หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็นไวรัสที่โจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รักษา จะนำไปสู่โรคเอดส์ได้ (Acquired Immunodeficiency Syndrome – AIDS) ในปัจจุบันทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมาก มียาที่สามารถป้องกันการติดเอชไอวีได้ มีทั้งแบบ ป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ ป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ และผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ก็สามารถมีชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไปได้ เพียงแค่ทานยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน

การรักษาด้วยยาต้านไวรัส

ยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเริ่มยาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการดำเนินไปของโรคและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น ผู้ป่วยจะรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีให้ตรงเวลาทุกวัน อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของไวรัส กรณีที่ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงหรือสงสัยแพ้ยา ควรรีบกลับมาพบแพทย์ ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง

การป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ

การป้องกัน”ก่อน”สัมผัสเชื้อ

การใช้ยาเพื่อป้องกัน ก่อน การสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis : PrEP) จะพิจารณาใช้ยาเฉพาะในผู้ที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง ต่อการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะรับประทานยา วันละ 1 เม็ด ติดต่อกันทุกวันตลอดช่วงที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ การใช้ยาในลักษณะนี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดก่อนเริ่มยา อีกทั้งต้องติดตามความปลอดภัยขณะใช้ยาอีกด้วย

การป้องกัน”หลัง”สัมผัสเชื้อ

การใช้ยาเพื่อป้องกัน หลัง การสัมผัสเชื้อ (post-exposure prophylaxis : PEP) ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ เช่น ถุงยางอนามัย แตก หลุด รั่ว ขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส ต้องรีบรับประทานยา ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีความเสี่ยง และต้องรับประทานต่อเนื่อง 28 วัน ยิ่งเริ่มยาเร็ว ยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกัน

U = U คืออะไร ?

  • U ตัวแรกคือ Undetectable หมายถึง ตรวจไม่เจอเชื้อ
  • U ตัวที่สองก็คือ Untransmittable หมายถึง ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 

U = U หรือ Undetectable = Untransmittable คือ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี แล้วกินยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว และทานยาตรงเวลาอย่างต่อเนื่อง จนกดปริมาณไวรัสให้มีจำนวนลดลงจนถึงระดับที่ ไม่สามารถตรวจหาไวรัสในเลือดพบ คือ ผลการตรวดวัดเชื้อเอชไอวีในเลือดของผู้ติดเชื้อมีค่าน้อยกว่า 50 coppies / ซีซีของเลือด และมีหลักฐานชัดเจนว่า คนเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนของตัวเองได้

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง

การพัฒนาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในการป้องกันเอชไอวี คือการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจเลือดได้ง่าย ด้วยตนเองเพื่อหาเชื้อเอชไอวี มีความเป็นส่วนตัวสูง การใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองนั้นใช้งานง่าย และให้ผลภายในไม่กี่นาที ทำให้การตรวจเอชไอวี สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นในปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูล : Rama

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่การรักษาได้ถูกพัฒนามากขึ้นจนสามารถทำให้ผู้ป่วย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้อย่างใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป โดยจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ ตามหลักการสากลที่แพทย์ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือ Undetectable = Untransmittable (U=U) หรือ ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยมีการตรวจสอบแล้วว่า เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก